ด้วงขาแดง (Copra beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ด้วงขาแดง (Copra beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่น ๆ : ด้วงเนื้อมะพร้าวแห้ง, Copra bug, Red-legged ham beetle, Larder beetle, Leather beetle, Paper worm, Ham beetle
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Necrobia rufipes (De Geer) (Coleoptera : Cleridae)

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่สุดที่ทำลายเนื้อมะพร้าวแห้ง ทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยร่วมกันทำลายเนื้อมะพร้าวแห้ง ลักษณะการทำลาย หนอนชอนไชเข้าไปในเนื้อมะพร้าวแห้ง เป็นรูพรุนอยู่ทั่วไป ทำให้เนื้อมะพร้าวแห้งเสียคุณภาพ บางครั้งพบทำลายร่วมกับด้วงหนัง (Dermestes spp.) และด้วงขาแดงเจริญเติบโตได้ดีในเนื้อมะพร้าวแห้ง แต่จะมีวงจรชีวิตนานขึ้นเมื่อเลี้ยงด้วยเนื้อมะพร้าวแห้งที่มีเชื้อราขึ้นเพราะด้วงขาแดงจะทำลายแมลงที่กินเชื้อราเป็นอาหาร การที่มีเชื้อราบนเนื้อมะพร้าวแห้งทำให้มีรอยแตกแยกซึ่งเป็นแหล่งหลบซ่อนของไข่และตัวหนอนด้วงขาแดงจากการทำลายของด้วงขาแดงตัวอื่นที่แข็งแรงกว่า

ด้วงขาแดง (Copra beetle)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ ระยะไข่ประมาณ 4-5 วัน แล้วจึงฟักเป็นตัวหนอน หนอน เมื่อฟักใหม่มีสีขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเทาอมม่วงและมีจุดสีน้ำตาล ตัวหนอนมีการลอกคราบ 4 ครั้ง ระยะตัวหนอนประมาณ 20-40 วัน ดักแด้เข้าดักแด้โดยมีใยหุ้มตัวไว้ ระยะดักแด้ประมาณ 5-7 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัย เป็นด้วงมีปีกสีน้ำเงินอมเขียวใสเป็นมันแวววาวมีเส้นขนเล็ก ๆ ตามลำตัว ปีกคู่หน้ายาวคลุมส่วนท้อง หนวดเป็นแบบกระบอง (clavate) โดยส่วนบริเวณฐานของหนวดและส่วนขาทั้ง 3 คู่ มีสีแดงเห็นได้ชัดเจน ขนาดลำตัวยาวประมาณ 4.0-5.0 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นกลุ่มตามรอยแตกบนอาหาร 400-1,000 ฟอง ระยะตัวเต็มวัยอาจมีชีวิตนานถึง 6 เดือน โดยตัวเต็มวัยเพศผู้มีอายุยืนกว่าเพศเมียเล็กน้อย ด้วงขาแดงเจริญเติบโตได้ดีในสภาพร้อนชื้นที่อุณหภูมิ 30-34 ºC แต่ไม่สามารถเจริญเติบโตที่อุณหภูมิต่ำกว่า 20.5 ºC ได้ วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 30-60 วัน อุปนิสัย ตัวเต็มวัยเคลื่อนไหวได้เร็วมากและบินได้ดี

ภาพ – วงจรชีวิตด้วงขาแดง Necrobia rufipes (De Geer)

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย พบเกือบทั่วโลก ในเขตร้อนและอบอุ่น ประเทศไทยพบแถบภาคใต้ และจังหวัดชายทะเล ฤดูการระบาด ตลอดปี

พืชอาหาร
เนื้อมะพร้าวแห้ง ผลไม้แห้ง เมล็ดพืชน้ำมัน โกโก้ ปาล์ม เนื้อแห้ง อาหารทะเลแห้ง กุ้งแห้ง ปลาแห้ง ปลาหมึกแห้ง กระดูกป่น แฮม เบคอน เนยแข็ง หนังสัตว์ เครื่องเทศ และยังเป็นตัวห้ำกัดกินไข่และตัวหนอนแมลงศัตรูผลิตผลเกษตรชนิดอื่น

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
ตัวห้ำ ได้แก่ Thaneroclerus buqueti (Lefebvre)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  8 หลักการ ผลิตปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง