ด้วงขาโต (Tamarind seed beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ด้วงขาโต (Tamarind seed beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่น ๆ : Groundnut seed beetle, Groundnut beetle, Groundnut bruchid, Groundnut borer, Tamarind weevil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caryedon serratus (Olivier) (Coleoptera : Bruchidae)
ชื่อเดิม : Caryedon gonagra, Caryedon fuscus (Goeze), Bruchus (Caryoborus) gonage, Pachymerus acaciae, P. chinensis, P. longus, P. gonagra or gonager

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของถั่วลิสงและเมล็ดมะขาม ทำลายฝักมะขามตั้งแต่ระยะก่อนเก็บเกี่ยวแต่ไม่ชอบทำลายเนื้อมะขามแก่ สามารถระบาดทำความเสียหายถึง 90% ของน้ำหนักผลผลิตทั้งหมดเมื่อเก็บรักษาไว้เพื่อรอจำหน่ายที่อุณหภูมิ 38-39 ºC ความชื้นสัมพัทธ์ 45-50% ลักษณะการทำลายตัวหนอนของด้วงขาโตกัดกินเมล็ดมะขามทำให้เป็นรูเสียคุณภาพไปทั้งฝัก เนื่องจากหนอนปล่อยมูลออกมาปนเปื้อนและมีปลอกหุ้มดักแด้ (cocoon) อยู่ในฝักนั้น ๆ

ด้วงขาโต (Tamarind seed beetle)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ วางเป็นฟองเดี่ยวสีขาวนวลบนผิวเมล็ดมะขาม 2-3 ฟองต่อเมล็ด ระยะไข่ใช้เวลา 5-6 วัน หนอน มีสีขาวขุ่น รูปร่างงอคล้ายรูปตัว C เมื่อตัวหนอนฟักออกจากไข่แล้วจึงเจาะผิวเมล็ดลงไปอาศัยกัดกินอยู่ภายในเป็นระยะเวลาประมาณ 21 วัน จึงเจาะเมล็ดออกมาภายนอกเพื่อเข้าระยะดักแด้ โดยสร้าง cocoon หุ้มไว้ ดักแด้ มีสีขาวครีม ระยะดักแด้ประมาณ 20-25 วัน ตัวเต็มวัย มีสีน้ำตาลแดง ขนาดลำตัวยาวประมาณ 5.0-8.0 มิลลิเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่มากเมื่อเปรียบเทียบกับด้วงถั่วในวงศ์ Bruchidae ด้วยกันลักษณะเด่นของด้วงขาโตคือ femur ของขาคู่ที่ 3 ใหญ่มาก ขอบด้านในเป็นฟันเลื่อย และ tibia ของขาคู่ที่ 3 โค้งงอ ตัวเต็มวัยอายุประมาณ 12-25 วัน เมื่อเลี้ยงที่อุณหภูมิ 30-33 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 70-90% วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 47-68 วัน

ภาพ – วงจรชีวิตด้วงขาโต Caryedon serratus (Olivier)

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย แต่ระบาดมากในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ฤดูการระบาด เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม

พืชอาหาร
มะขามหวาน มะขามเปรี้ยว เมล็ดคูณ เมล็ดกัลปพฤกษ์ และถั่วลิสง

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Anisopteromalus caryedophagus Rasplus, Eurytoma caryedocida Rasplus, Proconura serratocida Rasplus, Rhaconotus aciculatus Ruthe, Uscana caryedoni Viggiani, Bracon hebetor Say และ Sclerodermus immigrans Bridwell

ไรตัวห้ำ ได้แก่ Pyemotes tritici (Lagrèze-Fossat & Montané)

-*-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  วิธีทำน้ำหมัก น้ำสกัดสมุนไพรป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช

เรื่องที่เกี่ยวข้อง