การจัดทำเกรดผักอินทรีย์

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

การจัดทำเกรดผักอินทรีย์

ปัจจุบันกระแสรักสุขภาพมาแรง ผักอินทรีย์จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ทั้งตัวผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สินค้าพืชผักอินทรีย์สามารถขายได้ราคาดีกว่าพืชผักที่ปลูกด้วยเคมี จึงทำให้เกษตรกรหันมาปลูกผักอินทรีย์กันมากขึ้น

ในกรณีที่เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรได้เจรจาเพื่อซื้อ-ขาย ผักอินทรีย์ กับลูกค้า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่มักจะต้องตกลงกัน คือ คุณลักษณะของผลิตผลที่จะซื้อ-ขายกัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเกรด หรือ สเปค (spec) ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาเมื่อต้องทำสเปคร่วมกับลูกค้า (ต้องตกลงร่วมกัน) มีดังนี้

1. มีรูปร่าง ลักษณะ และสีตรงตามพันธุ์ที่ลูกค้าต้องการ
2. น้ำหนัก ความยาวหรือสูง ความกว้าง ฯลฯ
3. ช่วง (อายุ) เก็บเกี่ยวที่เหมาะสม หรือที่ลูกค้าต้องการ เช่น ต้องเก็บเกี่ยวเมื่ออายุปลูก 35 วัน
4. ตำหนิหรือความเสียหายที่ลูกค้ายอมรับได้ มีกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น มีตำหนิจากการทำลายของแมลง ประมาณ 10% ของผลิตผลในภาชนะบรรจุทั้งหมด เป็นต้น
5. การตัดแต่ง เช่น หัวไชเท้า (ผักกาดหัว) ต้องตัดแต่งใบออก เหลือก้านใบประมาณ 5-10 เซ็นติเมตร
6. ลักษณะการบรรจุและน้ำหนักที่บรรจุ เช่น กะหล่ำปลี บรรจุใส่ลังพลาสติก 10 กิโลกรัม/ลัง เป็นต้น
7. ข้อกำหนดอื่นๆ ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับชนิดพืช

ยกตัวอย่าง : นางใจดี ปลูกกะหล่ำปลี มีผลิตผล 1,000 กิโลกรัม โดยมีสัดส่วนดังนี้

– กะหล่ำปลีน้ำหนักหัว 500-700 กรัม มีประมาณ 70% ของผลิตผลทั้งหมด
– น้ำหนักหัว 600-800 กรัม มีประมาณ 10%
– หัวที่มีน้ำหนัก 900-1,000 กรัม มีประมาณ 10%
– น้ำหนักหัว 200-300 กรัม มีประมาณ 10%

จากข้อมูลข้างต้นจะสังเกตได้ว่า ควรจะเลือกกะหล่ำปลีที่มีน้ำหนักหัว 500-700 กรัม เป็นหลัก ในการเสนอลูกค้า โดยอาจจัดเกรดดังนี้

เกรด 1 น้ำหนักหัว 500-700 กรัม
– เกรด 2 น้ำหนักหัว 600-800 กรัม
– เกรด 3 หรือ เกรด U (Under grade) หรือ ตกเกรด หัวที่มีน้ำหนัก 900-1,000 กรัม หรือ น้ำหนักหัว 200-300 กรัม (เนื่องจากหัวมีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป)

*** สิ่งที่ต้องพึงระวัง คือ พืชบางชนิด น้ำหนักจะไม่เท่ากันในแต่ละฤดู เช่น สลัดคอส ในช่วงฤดูหนาว น้ำหนักประมาณ 150-300 กรัม/ต้น แต่ในฤดูฝน น้ำหนักอาจเหลือเพียง 20-50 กรัม/ต้น ดังนั้นอาจต้องมีการตกลงกันเป็นกรณีไปด้วย

ที่มา : สวพส.
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย : ดร.เพชรดา อยู่สุข และนางสาวจิราวรรณ ปันใจ


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  วิธีทำปุ๋ยฮอร์โมนไข่แบบเข้มข้น พืชผักโตไว เร่งผล เร่งโต

เรื่องที่เกี่ยวข้อง