เหตุเกิดจากรากปม ‘รากปม’ คืออะไร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

เหตุเกิดจากรากปม ‘รากปม’ คืออะไร

เกษตรกรผู้ปลูกผักบางราย พบว่าพืชผักที่ปลูกไม่ค่อยเติบโตเท่าที่ควร เช่น ผักกาดหวาน (cos lettuce) พอถอนต้นจะเห็นที่รากเป็นปม ๆ ซึ่งอาการแบบนี้เป็นลักษณะผิดปกติที่เกิดจากไส้เดือนฝอยศัตรูพืช (Plant Parasitic Nematodes) เป็นสัตว์ขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายเส้นด้าย มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดำรงชีวิตในดินและเข้าทำลายรากพืช ทำให้พืชเกิดอาการรากปม รากแผล รากกุด รากเน่า เป็นต้น โดยทำให้พืชแสดงอาการแคระแกรน โตช้า ใบเหลือง เหี่ยว ผลผลิตได้รับความเสียหาย เนื่องจากระบบรากถูกทำลาย ทำให้เกิดปุ่มปมจำนวนมากที่รากพืช

วิธีสังเกต “รากปม” มี 2 ลักษณะ คือ รากปมที่เกิดจากการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอยศัตรูพืช และรากปมของพืชตระกูลถั่ว

– รากปมที่เกิดจากการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอยศัตรูพืช จะเป็นลักษณะเหมือนรากบวมป่องขึ้นมา เนื่องจากไส้เดือนฝอยระยะเข้าทำลายจะใช้อวัยวะที่เรียกว่า stylet แทงเข้ารากพืชและปล่อยเอนไซม์เพื่อทำลายเซลล์รากให้อ่อนนุ่ม จากนั้นตัวอ่อนไส้เดือนฝอยจะเข้าไปในรากพืชและดูดสารอาหารจากพืช ทำให้พืชเกิดอาการรากปม

– รากของพืชตระกูลถั่วจะเป็นปมที่เหมือนมีก้อนค่อนข้างกลม มาแปะติดไว้กับราก สามารถเด็ดออกจากรากได้ ที่ปมของรากจะมีเชื้อไรโซเบียมที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาเก็บไว้ในปมรากถั่วและสะสมในต้นพืช จึงนิยมนำพืชตระกูลถั่วมาปลูกเป็นพืชปุ๋ยสดเพื่อช่วยปรับปรุงบำรุงดิน ในการปลูกพืชอินทรีย์ การปลูกพืชตระกูลถั่วสลับหมุนเวียนไปกับพืชอื่น จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการปรับปรุงบำรุงดินได้เป็นอย่างดี

วิธีป้องกันกำจัด
1. อบดินโดยการคลุมด้วยพลาสติก แล้วอบให้เกิดความร้อน หรือใช้ฟางข้าวหรือแกลบคลุมแปลงและเผาเพื่อให้ความร้อนทำลายไข่และตัวอ่อนของไส้เดือนฝอย (ไส้เดือนฝอยกลัวความร้อน! …จะตายเมื่อดินมีอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส) และพักแปลงประมาณ 1 สัปดาห์

2. ปลูกพืชสลับ เช่น ดาวเรือง ถั่วลิสง หรือปอเทือง เพื่อลดประชากรของไส้เดือนฝอยในดิน และปอเทืองยังเป็นพืชบำรุงดินด้วย

3. ก่อนปลูกพืชครั้งต่อไป รองก้นหลุมปลูกหรือคลุกดินด้วยเชื้อราเพซิโลมัยซิส (อัตราที่ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก) หรือใช้วิธีผสมน้ำแล้วนำไปราดหรือพ่นลงดินให้ทั่วแปลง ทุกๆ 7 วัน ประมาณ 2-3 ครั้งติดต่อกัน

ดังนั้น การปลูกพืชหลากหลายชนิดทั้งปลูกแบบสลับหรือหมุนเวียน จะช่วยลดการระบาดของโรค-แมลง เพราะโรค-แมลงแต่ละชนิดก็จะเข้าทำลายหรือระบาดรุนแรงแตกต่างกันไปตามชนิดพืชด้วย

ที่มา : สวพส.
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ดร.เพชรดา อยู่สุข และ ดร.อดิเรก ปัญญาลือ


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  มอดหนวดยาว (Flat grain beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

เรื่องที่เกี่ยวข้อง