มอดข้าวเปลือก (Lesser grain borer) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

มอดข้าวเปลือก (Lesser grain borer) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่น ๆ : มอดหัวป้อม, มอดหัวไม้ขีด, Australian wheat, American wheat weevil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhyzopertha dominica (F.) (Coleoptera : Bostrichidae)

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
มอดข้าวเปลือก เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญมากของข้าวเปลือกและข้าวสาลี ลักษณะการทำลาย ทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยร่วมกันทำลายข้าวเปลือก ธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช โดยเจาะรูและทำลายภายในเมล็ดลักษณะการทำลายที่สำคัญ คือ แมลงชนิดนี้สามารถเจาะทำลายข้าวเปลือกและเข้าไปกินข้าวสารที่อยู่ภายในซึ่งแมลงชนิดอื่นเข้าทำลายได้ยาก นอกจากนี้ ยังพบทำลายแป้งสาลี มันสำปะหลังแห้ง ขิง พริกแห้ง เมล็ดขมิ้น เมล็ดผักชี และถั่วชนิดต่าง ๆ แต่ไม่สามารถเจริญเติบโตในถั่วเหลือง แม้ว่าจะมีรายงานว่าเข้าทำลายตั้งแต่ในไร่ แต่พบในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่เข้าทำลายระยะหลังเก็บเกี่ยว

มอดข้าวเปลือก (Lesser grain borer)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ เรียวยาวคล้ายเมล็ดข้าวสาร ตรงกลางคอดเล็กน้อย ส่วนปลายทั้งสองข้างของไข่กลมมน ระยะไข่ เริ่มแรกมีสีขาวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อใกล้ฟักเป็นตัวหนอน ระยะไข่ประมาณ 6-10 วัน หนอน ลำตัวโค้งงอคล้ายตัว C (scarabaeiform) หนอนมีขาจริงแต่ไม่มีขาเทียม สีขาวขุ่น ลอกคราบ 3-5 ครั้ง ระยะหนอนประมาณ 21-28 วัน ดักแด้ เข้าดักแด้ภายในเมล็ด ดักแด้มีสีขาวในระยะแรกและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่ออายุมากขึ้น ระยะดักแด้ประมาณ 6-8 วัน ตัวเต็มวัย รูปร่างทรงกระบอก สีน้ำตาลเข้มปนแดง ขนาดลำตัว 2.0-3.0 มิลลิเมตร ส่วนหัวสั้นและงุ้มซ่อนอยู่ใต้อกปล้องแรก เมื่อมองดูด้านบนเห็นส่วนของอกเป็นส่วนหัวต้องมองดูทางด้านข้างจึงเห็นส่วนหัวได้ชัดเจน บนปีกคู่หน้ามีหลุม (puncture) เรียงเป็นแถวอย่างมีระเบียบเป็นแนวยาว โดยมีขนสั้น ๆ ปกคลุม ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ประมาณ 200-500 ฟอง โดยวางเป็นกลุ่มตามรอยแตกหรือรอยกะเทาะบนเมล็ด หรือวางเป็นฟองเดี่ยว ๆ ตามเศษผงในกองข้าว ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 5 เดือนหรือมากกว่า วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัย ที่อุณหภูมิ 20 ºC ประมาณ 90 วัน ที่อุณหภูมิ 30 ºC ประมาณ 32 วัน อุปนิสัย ไม่อยู่นิ่งเมื่อกินอาหาร

ภาพ – วงจรชีวิตมอดข้าวเปลือก Rhyzopertha dominica (Fabricius)

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย มอดข้าวเปลือกมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แต่ปัจจุบันระบาดไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศเขตอบอุ่นและเขตร้อนที่มีการปลูกข้าวและเก็บผลิตผลทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังพบในประเทศเขตหนาวได้อีกด้วย ฤดูการระบาด ตลอดปี

พืชอาหาร
ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี พืชหัว มันสำปะหลังแห้ง ไม้แห้ง และถั่วชนิดต่าง

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Anisopteromalus calandrae (Howard), Lariophagus distinguendus (Förster) และ Theocolax elegans (Westwood)

ตัวห้ำ ได้แก่ Peregrinator biannulipes (Montrouzier & Signoret), Tribolium castaneum (Herbst) และ Xylocoris flavipes (Reuter)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  แตนเบียน แมลงศัตรูธรรมชาติ ของแมลงศัตรูพืช

เรื่องที่เกี่ยวข้อง