วิธีป้องกันและกำจัด โรคโคนเน่า หัวเน่า มันสำปะหลัง (Root and Tuber Rot Diseases)

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

วิธีป้องกันและกำจัด โรคโคนเน่า หัวเน่า มันสำปะหลัง (Root and Tuber Rot Diseases)

เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Phytophthora spp. / เชื้อรา Fusarium spp.

ลักษณะอาการ
อาการที่สามารถมองเห็นได้จากความผิดปกติของต้นมันสำปะหลังส่วนที่อยู่เหนือดินจะพบว่า ใบมันสำปะหลังแสดงอาการเหี่ยวเหลือง โคนต้นแสดงอาการเน่าเป็นสีน้ำตาลหรือดำ หรือมันสำปะหลังบางพันธุ์โคนต้นมีการสร้างรากค้ำชู (Adventitious root) ขึ้นตรงรอยแตกของโคนต้น (มันสำปะหลังเบอร์ 89 แสดงอาการชัดเจน) เมื่อถอนขึ้นมาหัวมันสำปะหลังแสดงอาการเน่า ถ้าผ่าหรือหักหัวมันสำปะหลังจะเห็นภายในเป็นสีน้ำตาล ในมันสำปะหลังบางพันธุ์มีการเน่าที่โคนและส่วนของหัวที่อยู่ใต้ดิน โดยที่ส่วนของลำต้นและใบยังคงมีลักษณะปกติ หรือบางพันธุ์แสดงอาการรุนแรงมันสำปะหลังอาจยืนต้นตายได้

 

แนวทางการป้องกันกำจัดโรคโคนเน่า – หัวเน่ามันสำปะหลัง
1. ก่อนการปลูก เก็บเศษเหง้า หรือเศษซากมันสำปะหลังเผาทำลายทิ้งทำความสะอาดเครื่องจักรกลการเกษตร ควรมีการไถตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราเมทาแล็คซิล อัตรา 20 – 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร รวมถึงการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาไปหว่านในช่วงการเตรียมดินก่อนปลูก

2. แปลงปลูกควรมีการยกร่องสูง หรือในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังให้ทำร่องเพื่อระบายน้ำาออกจากแปลง

3. สำรวจแปลงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ถ้าในช่วงฝนชุกควรสำรวจแปลงทุกวัน หากพบการระบาดให้ขุดถอนต้นที่แสดงอาการไปเผาทำลาย จากนั้นบริเวณที่แสดงอาการและโดยรอบห่างออกไปรัศมีประมาณ 1 เมตร ให้หว่านปูนขาว หรือ โรยเชื้อราไตรโคเดอร์มาบริเวณรอบโคนต้นที่ขุดออก หรือกรณีระบาดรุนแรงมากใช้สารเคมีฟอสอีทิล อลูมิเนียม อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ราดต้นละ 300 ซีซี หรือพ่นอัตรา 150 กรัมต่อไร่

4. หลังการระบาดผ่านไปแล้ว เมื่อเริ่มการเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ แปลงที่เคยระบาดน้อยหรือปานกลางควรเลื่อนฤดูปลูก เป็นช่วงปลายฤดูฝนเพื่อให้ผลผลิตออกในฤดูแล้ง เลือกใช้พันธุ์ให้เหมาะกับพื้นที่ กำจัดซากพืชออกให้หมด ไถระเบิดดินดานและตากดิน หว่านปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน และแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราก่อนปลูก

*** ถ้าแปลงที่เคยปลูกเสียหายมากกว่าร้อยละ 50 ควรเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น อ้อยและข้าว

ที่มา : คู่มือ การป้องกันกำจัดโรค และแมลงศัตรูมันสำปะหลัง .PDF – โดย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  แจกสูตรผลดกกิ่งแทบปัก ทำแค่ 3 นาที รับรองพืชผักผลไม้ ผลดก

เรื่องที่เกี่ยวข้อง