‘แหนแดง’ ในนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

‘แหนแดง’ ในนาขั้นบันไดบนพื้นที่สูง

แหนแดง (Azolla spp.) เป็นเฟิร์นน้ำขนาดเล็กที่นำมาเลี้ยงในนาข้าวสำหรับเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน เนื่องจากในใบของแหนแดงมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่าสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Cyanobacteria) อาศัยอยู่ ซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ทำให้แหนแดงเจริญเติบโตได้เร็วและมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูง สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสด ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้และช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน นอกจากนี้แหนแดงยังช่วยควบคุมวัชพืชในนาข้าวและนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย

ชุมชนบ้านห้วยโทน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,221-1,500 เมตร มีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรได้ปรับพื้นที่จากข้าวไร่ให้เป็นนาขั้นบันได ซึ่งการขุดนาขั้นบันไดหน้าดินส่วนบนของแปลงนาถูกตัดออกไปเหลือแต่ดินชั้นล่าง ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ จากการเก็บตัวอย่างดินในแปลงนาขั้นบันได พบว่าส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว ดินกรดจัดมาก pH 4.87 ปริมาณอินทรียวัตถุปานกลาง ปริมาณธาตุอาหารต่ำมากโดยเฉพาะธาตุอาหารหลัก ส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาในช่วงปีแรกต่ำ ไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้

จากปัญหาดังกล่าว ทางโครงการวิจัยได้ร่วมกับเกษตรกรทดลองนำแหนแดงมาใส่ในแปลงนาขั้นบันไดเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด โดยการเลี้ยงแหนแดงในแปลงข้าวนาขั้นบันไดร่วมกับการการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และปลูกถั่วแดงหลวงหลังนา โดยใส่แหนแดง อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ หลังดำนา 7-15 วัน เพื่อให้ข้าวตั้งตัวได้ก่อน และใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 3 กิโลกรัม/ไร่ รักษาระดับน้ำในนาข้าวให้ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร หลังจากนั้นแหนแดงจะขยายตัวเต็มพื้นที่แปลงนาขั้นบันได จากการเก็บข้อมูลผลผลิตข้าวนาขั้นบันได ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวท้องถิ่น “ข้าวแป้น” (พันธุ์ข้าวไร่ของเกษตรกร บ้านห้วยโทน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน) ได้ผลผลิต 343 กิโลกรัม/ไร่ นอกจากนี้ได้เก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสมบัติดินหลังจากการเลี้ยงแหนแดงร่วมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและปลูกถั่วแดงหลวงหลังนา พบว่า ดินมีค่า pH เพิ่มขึ้นเป็น 5.74 โดยเป็นกรดปานกลาง ปริมาณอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียมและแมกนีเซียมเพิ่มขึ้นจากดินก่อนปลูกข้าวนา นอกจากนี้เกษตรกรสามารถขยายพันธุ์แหนแดงได้เองสำหรับนำไปใส่ในแปลงนาขั้นบันไดในปีต่อไป และขยายผลสู่เกษตรกรรายอื่นที่ปรับเปลี่ยนจากข้าวไร่ เป็นนาขั้นบันไดต่อไปได้

ที่มา : สวพส.
เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย:
ดารากร อัคฮาดศรี, จุไรรัตน์ ฝอยถาวร, อาผู่ เบเช


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  แจกสูตรปุ๋ยยูเรียน้ำ ทำเองในงบหลักร้อย ปลอดภัยได้พืชงามทั้งสวน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง