อิรักเปลี่ยนทะเลทราย ให้กลายเป็นไร่ข้าว ปรับตัวสู้ภัยแล้ง

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

อิรักเปลี่ยนทะเลทราย ให้กลายเป็นไร่ข้าว ปรับตัวสู้ภัยแล้ง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อิรักประสบปัญหาภัยแล้ง ที่ทำให้แม่น้ำสายหลักในประเทศมีปริมาณน้ำลดลง รัฐบาลจึงริเริ่มโครงการ ย้ายที่ดินเพาะปลูกจากริมแม่น้ำมาเป็นกลางทะเลทราย ซึ่งถึงแม้จะเป็นทะเลทรายที่ดูแห้งแล้ง แต่มันกลับอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำจากบ่อน้ำใต้ดิน

อามิน ซาลาห์ เกษตรกรที่เคยปลูกข้าวสาลีใกล้กับบริเวณริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรทีส แม่น้ำสายสำคัญอีกหนึ่งสายในประเทศอิรัก แต่มาวันนี้ ความแห้งแล้งของแม่น้ำ ทำให้เขาจำเป็นต้องเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกมาเป็นที่เมืองนาจาฟ เมืองที่เต็มไปด้วยทะเลทรายแทน

แม้จะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยทะเลทรายและความร้อนของแสงแดด แต่ที่นี่ก็อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำที่ได้จากบ่อน้ำกลางทะเลทราย ซึ่งขุดลึกลงไปใต้ดินกว่า 100 เมตร ที่ดินของเขาสามารถผลิตข้าวสาลีได้มากกว่าสองเท่าจากที่เคยปลูกได้มาก่อน

ซาลาห์บอกว่า “เราเคยปลูกข้าวสาลีตรงริมฝั่งแม่น้ำในเขตนาจาฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอัล มิชคาบ แต่หลังจากที่แม่น้ำเริ่มแห้ง เราก็ย้ายมาที่ทะเลทราย และสามารถเพาะปลูกบนที่ดินเหล่านี้ได้ ที่ดินของผมที่นี่ประมาณ 625 ไร่ และเกษตรกรคนอื่นก็มีที่ดินเพาะปลูก เราสามารถปลูกพืชขึ้นได้ โดยพึ่งพาน้ำใต้ดินเพื่อทำให้แน่ใจว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับพืชผลของเรา และมีผลผลิตที่ทำรายได้”

รัฐบาลอิรักเปิดเผยว่า โครงการโยกย้ายที่ดินเพาะปลูกดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้อิรักขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลีได้ถึงสองเท่า จากเดิมมีพื้นที่ปลูกข้าวสาลีราว 2 ล้าน 5 แสนไร่ ปัจจุบัน เพิ่มเป็นกว่า 5 ล้านไร่

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้แรงขับเคลื่อนที่จำเป็น นั่นคือ แม่น้ำสายหลักของประเทศทั้งสองสาย มีปริมาณน้ำลดลง เนื่องจากปริมาณฝนลดลง

การขุดเจาะน้ำกลางทะเลทราย กลายมาเป็นแหล่งบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องการขาดแคลนน้ำได้ในประเทศอิรัก ซึ่งทางสหประชาชาติเคยเตือนว่า เป็นหนึ่งใน 5 ชาติที่มีความเปราะบางที่สุดต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศบนโลกใบนี้

อย่างไรก็ตาม ถึงอิรักมจะมีบ่อน้ำกลางทะเลทรายมากกว่า 1 แสน 1 หมื่นบ่อ แต่มีแค่ประมาณ 1 หมื่นบ่อเท่านั้นที่ใช้ระบบและเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาช่วย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

คาริม ไบลัล วิศวกรด้านการเกษตร บอกว่า “เรามีบ่อน้ำกว่า 110,000 บ่อ แต่บ่อเหล่าน้้นเป็นแหล่งน้ำที่อยู่ในแถบหุบเขา ส่วนที่ใช้เทคนิคการชลประทานอันทัยสมัย มีน้อยกว่า 10,000 บ่อ บ่อน้ำเหล่านั้นใช้เทคนิคการชลประทานที่ทันสมัย และมันเป็นเช่นนั้นเนื่องจากสถานการณ์การเกษตรของอิรัก ซึ่งประสบภัยแล้ง มันจะไม่ได้รับผลกระทบ ตราบใดที่มันใช้เทคนิคสมัยใหม่”

ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้อิรัก มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการเกษตรให้มีความทันสมัยมากขึ้น และเข้าร่วมนโยบายการทูตเพื่อขอแบ่งปันน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ทางการเกษตรที่เคยได้รับผลกระทบจากสงครามมาก่อน เพราะการใช้น้ำจากบ่อน้ำอย่างหนัก ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกในอนาคต

ที่มา : PPTVHD36


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  ด้วงดำ (Lesser mealworm) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

เรื่องที่เกี่ยวข้อง