เป็ดบางปะกง เลี้ยงง่าย ให้ไข่สูงสุด 297 ฟอง ต่อปี

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

เป็ดบางปะกง เลี้ยงง่าย ให้ไข่สูงสุด 297 ฟอง ต่อปี

ชื่อท้องถิ่น : เป็ดบางปะกง
ชื่อสามัญ : เป็ดบางปะกง (Bang Pa Kong Duck)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anas platyrhynchos

แหล่งที่เลี้ยง : ได้รับการพัฒนา และปรับปรุงพันธุ์โดยกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เลี้ยงและขยายพันธุ์ที่ สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์บางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา **ปัจจุบันได้ย้ายฐานการวิจัยและผลิตลูกเป็ดไปที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก จ.ปราจีนบุรี, ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์สุราษฎร์ธานี, ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี และศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นครสวรรค์

ลักษณะประจำพันธุ์สัตว์
– เพศผู้ ขนตามลำตัวสีกากีเข้ม, หัว, ปลายปีก, ปลายหาง สีเขียวแก่ ขนปลายหางงอนขึ้นข้างบน 2-3 เส้น ปากสีดำแกมน้ำเงิน ขา-เท้า สีส้มอมดำ

– เพศเมีย ขนตามลำตัวสีกากีอ่อนตลอดลำตัวปากสีดำแกมน้ำเงิน ขา-เท้า สีส้มอมดำ

ลักษณะทางเศรษฐกิจ
1. อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก เฉลี่ย 144±21 วัน

2. น้ำหนักตัวเมื่อไข่ฟองแรกเฉลี่ย 1,300 กรัม

3. น้ำหนักไข่เฉลี่ย 65.02±4.9 กรัม

4. น้ำหนักไข่ฟองแรกเฉลี่ย 55.28±2.45 กรัม

5. ผลผลิตไข่เฉลี่ยปีละ 287±10 ฟอง/แม่

6. น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มที่เฉลี่ย เพศผู้ 1,500±20 กรัม เพศเมีย 1,300±40 กรัม

การเลี้ยงเป็ดบางปะกง

การกกลูกเป็ดบนกรง
1. ขนาดกรงกก เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งเป็น 2 ช่อง กว้าง 1.00 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 1.00 เมตร

2. ขาตั้งกรงห่างจากพื้นดิน 0.50 เมตร

3. มีฝาตระแกรงปิดด้านบน 2 ช่อง

4. ด้านในมีดวงไฟ ขนาด 100 วัตถ์ 1 หลอด

5. ถาดให้อาหาร จำนวน 1 ใบ

6. กระปุกน้ำ จำนวน 1 ใบ

7. เลี้ยงลูกเป็ดแรกเกิดจนถึง 7 วันได้ 200 ตัว ควรนำกระปุกน้ำออกจากกรงกก ช่วงเย็นเพื่อป้องกันลูกเป็ดเล่นน้ำตอนกลางคืน เพราะอาจจะทำให้ลูกเป็ดเปียกและหนาว เป็นสาเหตุระบบทางเดินหายใจ เช่นโรคหวัด และปอดบวมตาย

8. ควรให้อาหารที่มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 18%

กกลูกเป็ดบนดินโดยจานกก
1. อุปกรณ์จานกกลูกเป็ด 1 จาน ต่อลูกเป็ดไข่ 500 ตัว

2. แผงกั้นกก ระยะสัปดาห์แรกควรใช้แผงกั้นกก

3. ควรนำกระปุกน้ำออกในช่วงตอนเย็น เพื่อป้องกันเป็ดเล่นน้ำในตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้เป็ดหนาวและตายได้

4. ถาดอาหาร 1 ถาด/ลูกเป็ด 100 ตัว

5. กระปุกน้ำ 1 กระปุก/ลูกเป็ด 100 ตัว

ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงแบบไหน ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. พื้นที่พอเหมาะสำหรับการกกลูกเป็ดโดยประมาณ 7-10 ตัว/ตารางฟุต

2. ลูกเป็ด อายุ 1-7 วัน แรกต้อง ดูแลเป็นพิเศษ เพราะถ้าไม่มีการกกลูกเป็ดอาจหนาวตาย อุณหภูมิที่ใช้ในการกก 1-7 วันแรก ประมาณ 85-90 F แล้วลดลงสัปดาห์ละ 5 F หรือให้สังเกตว่าลูกเป็ดมีการกระจายตัวกันทั่วพื้นที่

3. ต้องหมั่นเปลี่ยนวัสดุรองพื้นอย่าให้แฉะ ถ้าเลี้ยงบนพื้นเล้า กรณีกกบนกรง ควรมีผ้าหรือกระสอบที่สะอาดปูพื้น ครึ่งหนึ่งของพื้นที่กรง ด้านในส่วนมีไฟกก และควรเปลี่ยนผ้าหรือกระสอบทุกวัน

4. ช่วงกลางคืนควรเอากระปุกน้ำออก ป้องกันการเปียกชื้นและทำให้ลูกเป็ดเปียกน้ำ อาจทำให้เป็ดปอดบวมตาย

5. ระยะเวลากกลูกเป็ดในฤดูร้อนจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ ส่วนฤดูหนาว 3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย

การเลี้ยงเป็ดรุ่น
การจัดการเป็ดรุ่น 6-12 สัปดาห์
1. ควรให้อาหารที่มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 12%
2. ควรมีผักหรือหญ้าสับให้กินในช่วงเวลากลางวัน


3. เลี้ยงอยู่ภายในโรงเรือน โดยไม่ปล่อยออกนอกโรงเลี้ยง
4. ควรถ่ายพยาธิครั้งแรกเมื่ออายุ 1-2 เดือน และทุกๆ 6 เดือน
5. จัดทำวัคซีนตามโปรแกรม

การเลี้ยงเป็ดพ่อ แม่พันธุ์
การเลี้ยงเป็ดไข่แบบปล่อยคลุมฝูงผสมพันธุ์ อัตราส่วนระหว่างพ่อพันธุ์ /แม่พันธุ์ คือ 1 : 5-7 โดยอยู่ภายในบริเวณโรงเรือน ควรให้อาหารที่มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 16% โรงเรือนเลี้ยงเป็ดพ่อ แม่พันธุ์ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

1. พื้นที่โรงเรือนนอน 1 ตารางเมตร ต่อเป็ด 8-10 ตัว จัดหาวัสดุรองพื้น เช่น แกลบหรือขี้เลื่อย และควรจัดทำรังสำหรับไข่ ส่วนที่ให้อาหารอยู่ภายในโรงเรือน ส่วนที่ให้น้ำอยู่ด้านนอก

2. พื้นที่ลานด้านนอก ควรมีพื้นที่ 1-2 เท่า ของโรงเรือนนอน 1 ตร.ม. / เป็ดพ่อแม่พันธุ์ 3-4 ตัว มีตะข่ายล้อมรอบบริเวณลาน ป้องกันเป็ดออกและไม่ให้ศัตรูเข้ารบกวน

อ่าน :  ทำเกษตรแบบผสมผสานเลี้ยงไก่-เป็ด-ห่าน-ไว้กินไข่ ในสวนหลังบ้าน

ช่วงบ่ายให้หญ้าสับ ขนาด 1-2 ซม. เพื่อเพิ่มวิตามินลด ความเครียด หญ้าที่เหมาะสมที่ให้เป็ดกินคือหญ้าขน,กระจับเศษผัก ถ้านำหญ้าหรือเศษผักจากแหล่งอื่นมาให้เป็ดกินควรนำมาล้าง หรือแช่ด้วยด่างทับทิมประมาณ 5-10 นาที

การเตรียมโรงเรือนก่อนนำเป็ดเข้าเลี้ยง
ก่อนนำเป็ดเข้าเลี้ยงครั้งต่อไป ควรทำความสะอาดโรงเรือนก่อนทุกครั้ง โดยนำเอาวัสดุรองพื้นออก และล้างทำความสะอาดควรฉีดพ่นด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อโรคและโรยด้วยปูนขาวทันที และทิ้งไว้ประมาณ 7-14 วัน จึงนำสัตว์เข้าเลี้ยง

ตารางการทำวัคซีนป้องกันโรคเป็ดไข่

ที่มา : กรมปศุสัตว์ – ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นครสวรรค์ โทร : 0 5621 7709, 0 5621 7790


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง