การปลูกองุ่นในกระถาง ดีอย่างไร ?

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

การปลูกองุ่นในกระถาง ดีอย่างไร ?

การปลูกองุ่นในกระถาง เป็นวิธีการปลูกองุ่นแบบจำกัดราก (Root-restriction culture) ซึ่งจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตทางกิ่ง ใบและลำต้น (vegetative) แต่ในขณะเดียวกันจะเพิ่มคุณภาพของผลไปจนถึงการเกิดสีที่ดีกว่าและเพิ่มการสะสมน้ำตาลในผลองุ่น (Wang, 1998)

ดังนั้นการจำกัดรากจึงกลายเป็นเทคนิคการปลูกองุ่นสมัยใหม่ ที่เป็นพื้นฐานในการปลูกองุ่นแบบควบคุมสภาพแวดล้อม ที่สามารถควบคุมปริมาณการให้น้ำและปุ๋ยได้ตามความต้องการในแต่ละระยะการเจริญเติบโต ควบคุมความแข็งแรงของกิ่งองุ่น ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตที่สม่ำเสมอและคุณภาพผลผลิตที่เพิ่มขึ้น (ภาพที่ 1)

ในต่างประเทศมีการทดลองเปรียบการปลูกองุ่นพันธุ์ Kyoho แบบจำกัดรากกับแบบปลูกลงดิน พบว่าการปลูกภายใต้การจำกัดรากจะทำให้รากบางและยาว รากที่มีขนาดเล็กนี้จะส่งผลให้ความชื้นในดินลดลงอย่างรวดเร็วและทำให้ลำต้นมีขนาดเล็ก ยอดสั้น พื้นที่ใบเล็กลง และอัตราการสังเคราะห์แสงต่ำ ผลที่ตามมา คือ องุ่นติดผลเพิ่มขึ้น 15-20 เปอร์เซ็นต์ และจะทำให้องุ่นพันธุ์ Kyoho มีความสม่ำเสมอของสีผิวและมีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ดีกว่าการปลูกลงดิน และองุ่นจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อรากมีระดับความลึกอยู่ที่ 20 เซนติเมตรและปริมาณรากที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 0.025 m3 ต่อตารางเมตรของพื้นที่ใบ Wang et al. (2001)

สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะบนพื้นที่สูงมักจะประสบปัญหาองุ่นมีรสชาติเปรี้ยว ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนตกหรือมีความชื้นในดินสูง ดังนั้นจึงได้ศึกษารูปแบบการปลูกขององุ่นรับประทานสดพันธุ์ Beauty Seedless แตกต่างกัน 4 รูปแบบ ดังนี้

1) ปลูกองุ่นแบบปลูกลงดิน ระยะปลูก 1.5 x 6 เมตร

2) ปลูกองุ่นในกระบะใหญ่ขนาด 1.0 x 4.0 x 0.5 เมตร ระยะปลูก 1.5 x 6 เมตร

3) ปลูกองุ่นในกระบะเล็กขนาด 0.8 x 1.2 x 0.3 เมตร ระยะปลูก 1.5 x 4 เมตร

4) ปลูกองุ่นในถุงเพาะชำขนาด 9 x 16 นิ้ว ระยะปลูก 1.5 x 0.5 เมตร (ภาพที่ 2) โดยใช้ต้นกล้าองุ่นพันธุ์ Beauty Seedless ที่เสียบยอดบนต้นตอองุ่นพันธุ์ 1613C และจัดทรงต้นแบบตัว T ปลูกองุ่นภายใต้โรงเรือนหลังคาพลาสติก (2 พฤษภาคม 2562) และดูแลรักษาต้นองุ่นตามวิธีการมาตรฐานการปลูกองุ่นแบบโครงการหลวง

จากการทดลองพบว่าเมื่อต้นองุ่นอายุ 2 ปีหลังปลูก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นแตกต่างกันทางสถิติ โดยองุ่นพันธุ์ Beauty Seedless ที่ปลูกในกระบะใหญ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นมากที่สุดคือ 44.40 มิลลิเมตร รองลงมาคือปลูกลงดิน (43.20 มิลลิเมตร) ปลูกในกระบะเล็ก (39.80 มิลลิเมตร) และการปลูกในถุงเพาะชำมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นน้อยที่สุดคือ 20.20 มิลลิเมตร (ภาพที่ 3)

การปลูกองุ่นพันธุ์ Beauty Seedless ในกระบะใหญ่ขนาด 4.0 x 1.0 x 0.3 เมตร และกระบะเล็กขนาด 0.8 x 1.2 x 0.3 เมตรส่งผลให้องุ่นพันธุ์ Beauty Seedless มีปริมาณผลผลิตไม่แตกต่างจากการปลูกลงดิน แต่มีความหวานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการปลูกลงดิน นอกจากนี้ยังใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกลงดินถึง 20,000 – 43,571.43 ลิตร/ฤดูกาลผลิต (ตารางที่ 1และภาพที่ 2)

ตารางที่ 1 ผลของรูปแบบการปลูกที่ต่างกันต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตองุ่นพันธุ์ Beauty Seedless เมื่ออายุ 2 ปี หลังปลูก (มกราคม – เมษายน 2564) ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ที่มา : สวพส.


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  คลิป-ขุด "คลองใส้ไก่" แก้ดินแห้งปลูกพืชไม่งาม ใช้งบ 1,100 กว้าง 1 ม. ยาว 30 ม. ลึก 50 ซม.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง