เรื่องเล่า…การปลูกมันสำปะหลัง ได้ไร่ละ 30 ตัน

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

เรื่องเล่า…การปลูกมันสำปะหลัง ได้ไร่ละ 30 ตัน

ผมได้ข่าวเรื่องเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังได้ไร่ละ 30 ตัน มานานเกือบปีแล้ว แต่ผมไม่เชื่อ เพราะไม่มีเอกสารวิชาการฉบับไหนมารองรับได้เลย เพราะมันสำปะหลังที่ปลูกกันอยู่ทุกวันนี้ ได้ผลผลิตไร่ละ 3-5 ตัน เกษตรกรก็พอใจแล้ว และจากการประกวดผลผลิตของมูลนิธิกองทุนมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิตทุกอย่าง อัดปุ๋ยเคมี ใส่อินทรียวัตถุเต็มที่ ใช้ระบบน้ำหยด หรือสปริงเกอร์เข้าช่วย ก็ได้ผลผลิตไม่เกิน 10 ตัน/ไร่ ท่ามกลางความไม่เชื่อ

ผมใช้หลักพระพุทธศาสนา กาลามสูตร(อย่าเชื่อ เพราะบอกเล่าต่อกันมา อย่าเชื่อ เพราะเขาน่าเชื่อถือ) ผมจึงเดินทางไปดู แปลงเกษตรกรที่ปลูกโดยไม่มีการบอกล่วงหน้า เพราะกลัวการ จัดฉาก ผักชีโรยหน้า ไปถึงแล้วต้องบอกว่า นี่คือของจริง ผมเตรียมกล้องถ่ายรูปไปด้วยจึงได้เก็บภาพต่างๆมาฝากท่านที่ไม่เชื่อเหมือนผม ได้ดูเบื้องต้น แต่ถ้ายังไม่เชื่อ ก็ต้องแอบไปดูเอาเอง อย่าปล่อยให้ความไม่เชื่อ แล้วไปพิพากษา เกษตรกรว่า ใช้ไสยศาสตร์ ไม่จริง เป็นไปไม่ได้แล้วไปต่อต้านเขา เพราะถ้าเขาปลูกได้ไร่ละ 30 ตัน จริงจะได้นำเอามาเผยแพร่ให้กับเกษตรกรทั่วไป ได้ทำกัน จะได้หายจน หายโง่เสียที และจะเป็นการปฏิวัติเรื่องมันสำปะหลังเลยนะครับ


ผมเดินทางไปที่ ตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ ผมไปกับคณะกรรมศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลลำนารายณ์ และมีบุคคลที่ผมคาดไม่ถึงว่าจะเดินทางไปด้วยก็คือ ท่านสนิท วรปัญญา อดีตประธานวุฒิสภา,อธิบดีกรมการค้าภายใน ปัจจุบันท่านเป็น ประธานตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ร่วมคณะเดินทางไปด้วย พอไปถึง กำนันแสง ก่องนอก ซึ่งเป็นเกษตรกรเจ้าของแปลงได้อธิบายวิธีปลูกมันสำปะหลังให้ได้ 30 ตัน พร้อมทั้งนำไปดูแปลงที่กำลังจะถอน ก่อนจะถอน ต้องมีการรดน้ำก่อนเพื่อให้สามารถถอนได้ง่ายขึ้น เพราะหัวมันใหญ่มาก ถ้าใช้รถไถชักร่องขุด หัวมันจะขาด ต้องขุดตามอีกเสียเวลามาก ดินที่ปลูกเป็นดินทรายคุณภาพดินแย่มาก สู้ดินภาคกลางไม่ได้ แต่เขาสามารถทำได้ และเมื่อขุดแล้ว ผลผลิตที่ได้ 26 ตัน เปอร์เซ็นต์แป้ง 35 % ซึ่งสามารถสรุปวิธีทำได้ดังนี้

1. เตรียมดินดี ไถดะด้วยผาน 3 ให้ลึกที่สุดแล้วไถแปร ด้วยผาน 7 พูนร่องระยะห่าง 1 เมตร


2. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงในร่องไร่ละ 1-2 ตัน แล้วกลบครึ่งร่อง ปักท่อนพันธุ์ลงบนดินในร่องที่กลบ

3. ท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกตัดยาว 50 ซม.ปักลงดิน 10 ซม.โดยส่วนโคน ส่วนกลางและส่วนปลายลำต้น ต้องแยกส่วนกันปลูก เพราะจะโตไม่เท่ากัน ถ้าเอาปลูกปนกัน ใบจะคลุมกันเอง ปลูกสลับฟันปลาระยะห่าง 1X1 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่จะได้ 1,600 ต้น พันธุ์ที่ปลูกด้วยวิธีนี้ใช้พันธุ์อะไรก็ได้

4. ถ้ามีวัชพืชขึ้น ก็ดูแลกำจัดเพราะจะแย่งอาหาร แต่วิธีที่เขาปลูกนี้ไม่ค่อยจะมีวัชพืชเนื่องจากท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจะโตไวกว่าวัชพืช ระยะเวลาขุด ถอน 12 เดือน


วิธีปลูกข้างๆ สันร่องเพื่อให้ต้นมันกินน้ำและปุ๋ยเต็มที่ 5

การวางระยะปลูก (ปลูกสลับฟันปลาระยะ 1 x 1 เมตร ใน 1 ไร่จะได้ 1,600 ต้น)

ประเด็นวิชาการ
1. การเตรียมดินที่ดี จะช่วยให้มันลงหัวได้ดีและแผ่ขยายออกได้อย่างกว้างขว้าง

2. การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ร่วยซุย มันลงหัวได้ได้ดี(สูตรปุ๋ยอินทรีย์ที่นี่ เขาทำกันใช้เองโดยเฉพาะ)

3. ท่อนพันธุ์ที่ยาวกว่าปกติ ทำให้อาหารที่สะสมอยู่ในท่อนพันธุ์มีมากกว่า ช่วยในการเจริญเติบโตในระยะตั้งต้นได้ดีกว่าท่อนพันธุ์ที่เกษตรกรทั่วไปใช้อยู่ (20 ซม.)


4. เมื่อท่อนพันธุ์แตกใบแล้ว จะคลุมวัชพืชต่างๆได้ดีกว่าเพราะใบจะอยู่สูงกว่าวัชพืช

5. การปักท่อนพันธุ์ลงในร่อง ข้างๆร่อง จะทำให้ท่อนพันธุ์กินน้ำและอาหารได้โดยตรงจึงโตเร็วกว่าวัชพืช แต่ถ้าในดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี(ดินร่วนปนเหนียว) จะทำให้หัวมันเน่า

6. เกษตรกรจะไม่ใช้สารเคมีจำพวกยาคลุมหญ้า หรือยาฆ่าหญ้า เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้มันสำปะหลังชะงักการเจริญเติบโต 2-3 เดือนต่อการฉีดพ่นยา 1 ครั้ง

7. การแยกท่อนพันธุ์ปลูก เป็นส่วนโคน ส่วนกลาง และส่วนปลายลำต้น ช่วยให้ท่อนพันธุ์แต่ละชนิด เจริญเติบโตพร้อมกัน ไม่บดบังแสง และแย่งอาหารกันเอง


8. ระยะปลูก 1×1 เมตร จะได้จำนวนต้น 1,600 ต้น/ไร่ ทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตพอดีไม่แย่งอาหารกันเอง เกษตรกรทั่วไปจะปลูกไร่ละ 4,000-7,000 ต้น/ไร่ เพราะคิดว่าการปลูกมากต้น หัวก็จะมากตามไปด้วย เป็นการสิ้นเปลืองแรงงานในการสับท่อนพันธุ์ การปักท่อนพันธุ์ และการใส่ปุ๋ย เป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน

ระยะแรกของการเจริญเติบโต

ปลูกด้วยดินทราย

อดีตประธานวุฒิสภา(นายสนิท วรปัญญา)และคณะกรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลลำนารายณ์

ทุกคนต้องพิสูจน์ความจริงด้วยตนเอง กาลามสูตร

ทดสอบด้วยการชั่งน้ำหนัก(ข้อมูลโดยนายเจริญ พิมพ์ขาล สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี)

แล้วพวกเราจะปล่อยให้เกษตรกรเขาทำกันเอง โดยไม่ทำอะไรกันเลยหรือ

สูตรปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้สำหรับมันสำปะหลัง 30 ตัน (การใช้อินทรีย์วัตถุร่วมกับสินแร่)

1. ขี้เคกหรือกากอ้อย จำนวน 1 ตัน ราคา 500 บาท
2. ขี้ไก่แกลบ(ได้จากแกลบที่รองเลี้ยงไก่เนื้อ) จำนวน 1 ตัน ราคา 500 บาท
3. ขี้ไก่ไข่ จำนวน 1 ตัน ราคา 1,000 บาท
4. ขี้วัว จำนวน 1 ตัน ราคา 500 บาท
5. โดโลไมท์ จำนวน 1 ตัน ราคา 1,000 บาท
6. เพอร์ไรท์ จำนวน 1 ตัน ราคา 2,000 บาท
7. รำละเอียด จำนวน 300 กก. ราคา 2,400 บาท
8. จุลินทรีย์ 12 ตระกูล จำนวน 60 ลิตร ราคา 3,000 บาท
9. กากน้ำตาล จำนวน 360 ลิตร ราคา 3,600 บาท
10. ค่าแรงงานผสม,การบริหารจัดการหาวัตถุดิบ 3,000 บาท

อ่าน :  ด้วงกาแฟ (Coffee-bean weevil) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17,500 บาท
เมื่อนำมาผสมกันแล้วจะได้ปุ๋ยอินทรีย์จำนวน 6,300 กิโลกรัม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.8 บาท วัตถุดิบบางตัวสามารถใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นทดแทนกันได้ ขอเพียงให้รู้จักทำใช้เองก็คุ้มแล้ว


สรุปต้นทุนการปลูกมันสำปะหลังไร่ละ 30 ตันดังนี้
1. ค่าเตรียมดิน(ไถดะ 300 บ.,ไถแปร 200 บ.,ยกร่อง 150 บ.) 650 บาท
2. ค่าจ้างปลูก 600 บาท
3. ค่าจ้างใส่ปุ๋ย 300 บาท
4. ค่าจ้างขุด,ถอน 2,000 บาท
5. ค่าปุ๋ยอินทรีย์ 2,800 บาท
6. ค่าท่อนพันธุ์ (ต้นละ 1 บ.ตัดได้ 2 ท่อนใช้ 1,600 ท่อน) 800 บาท

รวมค่าใช้จ่าย 7,150 บาท/ไร่

แปลงนี้ได้ผลผลิต 26,000 กิโลกรัมๆละ 2 บาท เป็นเงิน 52,000 บาท/ไร่
ได้กำไร 44,850 บาท/ไร่

*** การปลูกมันสำปะหลังด้วยวิธีนี้ไม่สามารถทำได้จำนวนมาก เพราะต้องดูแลค่อนข้างดี


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง