วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขยายพันธุ์กล้วย ด่างแบบไหนก็ทำได้

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขยายพันธุ์กล้วย ด่างแบบไหนก็ทำได้

กล้วย เป็นพืชสารพัดประโยชน์ คงมีพืชไม่กี่ชนิดในโลกนี้ที่สามารถนําเอาส่วนต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่างได้แบบกล้วย เพราะทุกส่วนของกล้วยล้วนนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่ ปลีกล้วย ผลอ่อน ผลแก่ ผลสุกหรือสุกงอม ก้านกล้วย ใบกล้วย หรือลำต้นกล้วย ล้วนสามารถนํามาเป็นประโยชน์เกี่ยวข้องต่อการดำรงชีวิตประจําวันของมนุษย์ได้ทั้งสิ้น

ดังกล่าวแล้วว่า กล้วย สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการใช้หน่อ แต่การใช้หน่ออาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคกล้วยสําคัญบางชนิด เช่น โรคตายพราย ที่เกิดจากเชื้อรา และโรคเหี่ยวของกล้วยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยจึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบธุรกิจการปลูกกล้วยที่สําคัญอย่างน้อย 2 ประการ

1. การผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรค ระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นระบบที่สามารถควบคุมและป้องกันมิให้ต้นพันธุ์กล้วยที่ผลิตออกมามีการปนเปื้อนของเชื้อราและแบคทีเรียในต้นพันธุ์กล้วย ดังนั้น จึงเหมาะสมต่อการใช้เป็นต้นพันธุ์ในระบบปลูกกล้วยแปลงใหญ่สําหรับธุรกิจส่งผลผลิตไปต่างประเทศ

2. การผลิตต้นพันธุ์ที่มีมาตรฐาน ต้นพันธุ์กล้วยที่ผลิตขึ้นมา จะมีคุณสมบัติตรงตามพันธุ์ มีขนาดสม่ำเสมอใกล้เคียงกัน มีเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตสูงกว่าการปลูกจากหน่อ มีความแข็งแรง เจริญเติบโตรวดเร็ว ให้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพใกล้เคียงกันทุกต้น

ขั้นตอนและวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย

1. คัดเลือกแม่พันธุ์ดี แม่พันธุ์กล้วยที่ถูกคัดเลือกต้องไม่แสดงอาการของโรคกล้วยสำคัญ มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ให้ผลผลิตตรงตามมาตรฐาน ในหน่วยงานราชการบางหน่วยอาจจัดให้มีโรงเรือนเก็บรักษา แพันธุ์กล้วยหรืออาจแบ่งพื้นที่จัดทําเป็นแปลงปลูกกล้วยแม่พันธุ์สำหรับใช้ขยายพันธุ์ มีการควบคุมดูแลตามหลักวิชาการ

2. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย

2.1 ชิ้นส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์ นิยมใช้ส่วนของหน่อกล้วยใบแคบ ที่มีอายุประมาณ 2-3 เดือน เป็นชิ้นส่วนขยายพันธุ์ หน่อกล้วยจะถูกนำมาตกแต่งจนเหลือขนาดชิ้นส่วนเล็กๆ ที่มีส่วนของปลายยอดติดอยู่ด้วย จากนั้นจึงนำชิ้นส่วนปลายยอดมาฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ โดยใช้สารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือสารคอลร็อกซ์ ความเข้มข้นประมาณ 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ นานประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำกลั่น นึ่งฆ่าเชื้อให้สะอาดก่อนนำไปเพาะเลี้ยงในอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต่อไป

2.2 การเพิ่มปริมาณ ชิ้นส่วนที่ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์คือ ชิ้นส่วนที่สะอาด ไม่มีการติดเชื้อราและแบคทีเรีย ชิ้นส่วนสะอาดเหล่านี้จะถูกนำไปวางบนผิวอาหารสูตรเพิ่มปริมาณหน่อ โดยปกติมักใช้อาหารสูตร Murashigeและ Skoog (1962) หรือนิยมเรียกกันว่า อาหารสูตร MS ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโตในกลุ่มไซโตไคนิน ตัวที่ใช้ชื่อว่าสาร BA สารตัวนี้มีอิทธิพลต่อการแบ่งเซลล์เเละเพิ่มจํานวนเซลล์ มีอิทธิพลต่อการเกิดและเพิ่มปริมาณหน่อกล้วย ทุกๆ ประมาณ 30 วัน ผู้เพาะเลี้ยงจะเปลี่ยนอาหารกล้วยจากอาหารขวดเดิมไปสู่อาหารขวดใหม่ (สูตรเดิม) และกล้วยจะมีอัตราเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์หรือหน่อใหม่ ประมาณ 3-4 เท่า ต่อเดือน เมื่อเพาะเลี้ยงได้จำนวนต้นพันธุ์กล้วยเพียงพอแล้ว ต้นกล้วยเล็กๆ เหล่านี้จะถูกนำไปตัดแบ่งเป็นต้นเดี่ยวๆ นำไปเพาะเลี้ยงบนอาหารสูตรชักนำให้เกิดรากต่อไป

2.3 การชักนำให้เกิดราก ต้นกล้วยต้นเล็กๆ จำนวนมากเหล่านี้ จะถูกนำไปเพาะเลี้ยงบนอาหารสูตรชักนำให้เกิดราก โดยนํากล้วยแต่ละต้นมาปักลงบนอาหารเพาะเลี้ยงเป็นแถวเรียงเดี่ยวเว้นระยะ สำหรับอาหารสูตรชักนำราก นิยมใช้อาหารสูตร Murashige และ Skoog (1962) หรือเรียกว่า อาหารสูตร MS ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโต กลุ่มออกซิน ปกติจะเลือกใช้สาร NAA สารตัวนี้ใช้เพียงเล็กน้อยก็จะมีอิทธิพลชักนำให้ต้นกล้วยเกิดรากได้ 100% ภายในระยะเวลาประมาณ 25 ถึง 30 วัน

ข้อควรคำนึง
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีหลายชนิด บางชนิดอาจ กระตุ้นให้พืชมีการแบ่งเซลล์รวดเร็วเกินระดับปกติ จึงมีข้อควรคำนึงระลึกถึงเสมอในขณะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยบางประการ ดังนี้

1. ปริมาณของสารควบคุมการเจริญเติบโตที่ใช้ สารควบคุมการเจริญเติบโตในกลุ่มไซโตไคนิน คือ สาร BA เป็นสารที่มีอิทธิพลต่อการเเบ่งเซลล์และการเกิดหน่อกล้วย หากใช้ในปริมาณมากจะมีอิทธิพลกระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์มาก มีอิทธิพลให้เกิดหน่อจํานวนมาก หรือหากใช้ในปริมาณน้อยจำนวนหน่อที่เกิดขึ้นก็จะลดจำนวนลงเช่นกัน จึงควรระมัดระวังไม่ใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในระดับที่สูงมากเกินไป เพราะอาจส่งผลทำให้ต้นกล้วยเกิดการผิดปกติทางพันธุกรรม

2. ระยะเวลาที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ยกตัวอย่างเช่น กล้วย 1 หน่อ จากสภาพธรรมชาติไม่ควรถูกใช้เพิ่มปริมาณหน่อพันธุ์กล้วยเป็นเวลาที่ยาวนานแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด กล้วยแต่ละชุดที่นำเข้ามาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะต้องมีการบันทึกประวัติ เช่น หน่อแม่ธรรมชาติแต่ละหน่อได้เปลี่ยนอาหารไปแล้วกี่ครั้ง มีการเพิ่มจำนวนต้นพันธุ์ลูกไปแล้วกี่ต้น เพื่อป้องกันการเพิ่มจํานวนที่มากเกินไป หรือการเพาะเลี้ยงเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนหน่อแม่พันธุ์ใหม่

3. การอนุบาลต้นพันธุ์กล้วย กล้วยเป็นพืชที่มีเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตสูงมากกว่า 90% หากอนุบาลในสภาพแวดล้อม เช่น สภาพแสง อุณหภูมิ และความชื้นที่เหมาะสม สำหรับวัสดุที่ใช้ในการอนุบาล เราอาจใช้ทรายและขี้เถ้าแกลบเก่า อัตราส่วน 1 ต่อ 1 ผสมกันก็ได้ ส่วนต้นพันธุ์กล้วยควรแช่สารป้องกันเชื้อราก่อนอนุบาล หลังจากนั้น จึงให้น้ำพอสมควรในลักษณะชื้นได้แต่อย่าแฉะ โดยช่วงเวลาฤดูหนาวเป็นฤดูที่มีความชื้นในอากาศต่ำ การอนุบาลต้นพันธุ์กล้วยจะประสบความสำเร็จได้ดี และเมื่ออนุบาลผ่านไปประมาณ 30 วัน ต้นพันธุ์กล้วยก็จะอยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการนำไปย้ายปลูกในถุงเพาะชำ และดูแลอีกประมาณ 45 วัน ก็สามารถนำต้นพันธุ์กล้วยเหล่านั้นไปปลูกได้ในสภาพธรรมชาติต่อไป ต้นพันธุ์กล้วยที่นำไปปลูกในสภาพธรรมชาติจะมีอายุการเจริญเติบโต การให้ผลผลิต แบบเดียวกับกล้วยที่อยู่ในสภาพธรรมชาติทั่วไป

ปัจจุบันนี้ มีผู้สนใจปลูกกล้วยให้การยอมรับการใช้ต้นกล้วยที่ผลิตจากวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นด้วยเรื่องที่กล่าวไปแล้วข้างต้นคือ เป็นต้นพันธุ์ที่มีมาตรฐานและปลอดโรค อย่างไรก็ตาม ปัญหาในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคกล้วยสำคัญ เช่น โรคตายพราย และโรคเหี่ยวของกล้วยก็ยังคงมีอยู่ทั่วไปในทุกพื้นที่ สําหรับโรคกล้วยนั้นอย่างน้อยต้องมีการป้องกันโรคและกำจัดโรค ผู้เขียนอยากสนับสนุนให้มีการเพิ่มระดับการป้องกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ให้ความรู้ ความเข้าใจ ในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ เช่น จอบ เสียม หรือมีด ที่ใช้ปฏิบัติงานกับกอกล้วยในสวนกล้วย อุปกรณ์เหล่านี้หากมีการแนะนำเพิ่มเติมให้ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ เช่น การแช่ในสารเคมี โซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือคลอร็อกซ์ หรือไฮเตอร์ ในระดับความเข้มข้น 10% นาน 10 นาที ก่อนนำอุปกรณ์ไปปฏิบัติงานกับกล้วยแต่ละกอ จะช่วยให้อุปกรณ์สะอาดปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ วิธีการเหล่านี้สามารถใช้ร่วมกับการปลูกกล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดียิ่งขึ้น เป็นการป้องกันโรคแบบผสมผสานหลายๆ วิธีมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

แหล่งข้อมูลที่มา https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_164599


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  วิธีแก้ปัญหาพืชใบเหลือเฉา รากเน่า ในงบ 5 บาท

เรื่องที่เกี่ยวข้อง