มอดฟันเลื่อยใหญ่ (Merchant grain beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

มอดฟันเลื่อยใหญ่ (Merchant grain beetle) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oryzaephilus mercator Fauvel (Coleoptera : Silvanidae)
ชื่อเดิม : Silvanus mercator

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
มอดฟันเลื่อยใหญ่ เป็นแมลงศัตรูของเมล็ดพืชน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำมันสูง เช่น ถั่วลิสง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เนื้อมะพร้าวแห้ง นอกจากนี้ ยังสามารถทำลายข้าวกล้องและรำข้าวได้อีกด้วย ลักษณะการทำลาย คล้ายกับมอดฟันเลื่อยทั้งตัวเต็มวัยและตัวหนอนร่วมกันทำลายผลิตผล และมีความสามารถในการเจาะถุง หรือเปลือกเมล็ดที่แข็งได้ โดยจะกัดกินเมล็ดถั่วจนเว้าแหว่งและกัดกินภายในเมล็ดจนป่นเป็นผงเหลือแต่เปลือกหุ้มเมล็ด

มอดฟันเลื่อยใหญ่ (Merchant grain beetle)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
คล้ายมอดฟันเลื่อย แต่แตกต่างกันตรงที่ตัวเต็มวัยมอดฟันเลื่อยใหญ่มีขนาดของตารวมใหญ่กว่าความยาวของส่วนหัวด้านหลังของตารวม และมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าเล็กน้อย คือ 2.5-3.5 มิลลิเมตร ส่วนมอดฟันเลื่อยนั้นขนาดของตารวมและส่วนต่อจากตารวมลงมามีขนาดใกล้เคียงกัน ชีวประวัติและการขยายพันธุ์เหมือนมอดฟันเลื่อย ไข่ ระยะไข่ประมาณ 3-5 วัน หนอน ลำตัวเรียวเล็ก สีขาว ลอกคราบ 2-5 ครั้ง ระยะหนอนประมาณ 14 วัน ดักแด้ ระยะดักแด้ประมาณ 6-10 วัน ตัวเต็มวัย เพศเมียวางไข่ประมาณ 200 ฟอง ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 6-10 เดือน อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของมอดฟันเลื่อยใหญ่ คือ อุณหภูมิ 30-33 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 70% แต่ถ้าสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิ 35 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 90% การเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์จะช้ากว่ามอดฟันเลื่อย เนื่องจากมอดฟันเลื่อยมีความอดทนมากกว่ามอดฟันเลื่อยใหญ่ โดยมอดฟันเลื่อยสามารถอยู่ในสภาพแห้งที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 10% ได้ และอยู่ได้ในช่วงอุณหภูมิ 20-37 ºC ในขณะที่มอดฟันเลื่อยใหญ่อยู่ได้ในที่ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 25-32.5 ºC อุปนิสัย ตัวเต็มวัยแม้จะบินได้แต่ไม่ค่อยบิน และมักไม่อยู่ปะปนในที่เดียวกันกับมอดฟันเลื่อย

ภาพ – วงจรชีวิตมอดฟันเลื่อยใหญ่ Oryzaephilus mercator Fauvel

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย ทั่วโลก แต่มีความสำคัญในประเทศแถบร้อนและอบอุ่น ทำลายเมล็ดพืชในโรงเก็บโดยเฉพาะพวกพืชน้ำมัน ฤดูการระบาด ตลอดปี

พืชอาหาร
เมล็ดพืชน้ำมันแทบทุกชนิด ข้าวกล้อง รำข้าว มะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง ผลไม้แห้ง เนื้อมะพร้าวแห้ง เครื่องเทศ และอาหารทะเลแห้ง เช่น กระเพาะปลา

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Cephalonomia meridionalis Brèthes, Cephalonomia tarsalis (Ashmead) และ Holepyris sylvanidis Brèthes

ตัวห้ำ ได้แก่ Amphibolus venator (Klug), Xylocoris flavipes (Reuter) และ Joppiecus paradoxus Puton

ไรตัวห้ำ ได้แก่ Pyemotes tritici (Lagrèze-Fossat & Montané)

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  แตนเบียน สายพันธุ์ Cephalonomia tarsalis (Ashmead) แมลงศัตรูธรรมชาติ ของแมลงศัตรูพืช

เรื่องที่เกี่ยวข้อง