ด้วงกาแฟ (Coffee-bean weevil) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน

ด้วงกาแฟ (Coffee-bean weevil) แมลงศัตรูของเมล็ดพืช และผลิตผลเกษตร

ชื่ออื่น ๆ : Areca nut weevil, Cocoa weevil, Coffee weevil, Nutmeg weevil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Araecerus fasciculatus De Geer (Coleoptera : Anthribidae)
ชื่อเดิม : Anthribus coffeac, Amblycerus japonicus, Araecerus coffeae, Curculio fasciculatus

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญต่อการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ มันสำปะหลังแห้ง และผลิตผลเกษตรชนิดต่าง ๆ ลักษณะการทำลาย ตัวหนอนเข้าทำลายผลกาแฟสดตั้งแต่ในไร่ ในผลิตผลที่มีราคาแพง เช่น กาแฟ และโกโก้ แม้ว่าจะทำความเสียหายไม่มากแต่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพมากกว่าความเสียหายที่เกิดจากการทำลาย สำหรับในมันสำปะหลังด้วงกาแฟก่อให้เกิดความเสียหายมาก

ด้วงกาแฟ (Coffee-bean weevil)

รูปร่างลักษณะ ชีวประวัติ และอุปนิสัย
ไข่ มีลักษณะกลมรี ส่วนหัวและท้ายมน ระยะไข่ 6-7 วัน หนอน มีสีขาว ลำตัวโค้ง ปกคลุมด้วยขนละเอียด ไม่มีขา ปล้องท้องของตัวหนอนมี 10 ปล้อง หนอนมีทั้งหมด 4 วัย ระยะหนอนประมาณ 47 วัน ดักแด้ เข้าดักแด้อยู่ภายในเมล็ดกาแฟและผลิตผลเกษตรชนิดต่าง ๆ เมื่อเริ่มเข้าดักแด้มีสีขาว และสีจะเข้มขึ้นเมื่อใกล้ฟักเป็นตัวเต็มวัย ระยะดักแด้ประมาณ 6-7 วัน ตัวเต็มวัย ลักษณะทั่วไปคล้ายด้วงถั่ว สีน้ำตาลอมเทา ปีกคู่หน้ามีขนสีขาวสลับสีน้ำตาลเข้มทำให้มองเห็นเป็นจุดประสีน้ำตาลเข้ม ปีกสั้นกว่าลำตัวเล็กน้อยขนาดลำตัวยาว 3.0-5.0 มิลลิเมตร ปล้องปลายหนวด 3 ปล้อง มีขนาดใหญ่กว่าปล้องอื่น ๆ ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ประมาณ 50 ฟอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตนานประมาณ 17 สัปดาห์ ที่อุณหภูมิ 28 ºC และความชื้นสัมพัทธ์ 80% วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยประมาณ 46-66 วัน เมื่อเลี้ยงด้วยข้าวโพดที่มีความชื้น วงจรชีวิตด้วงกาแฟมักสั้นลงในสภาพความชื้นต่ำกว่า 60% ที่อุณหภูมิ 27 ºC ด้วงกาแฟตายหมดทุกระยะเจริญเติบโต ยกเว้นระยะดักแด้ เมื่อความชื้นสัมพัทธ์ลดลงจาก 100% เหลือ 60% ระยะการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 29 วัน เป็น 57 วัน และตัวเต็มวัยมีชีวิตสั้นลงเมื่อความชื้นสัมพัทธ์ลดลง

ภาพ – วงจรชีวิตด้วงกาแฟ Araecerus fasciculatus De Geer

การแพร่กระจายและฤดูการระบาด
การแพร่กระจาย ด้วงกาแฟมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แต่ปัจจุบันระบาดทั้งในเขตร้อนชื้น และกึ่งร้อนชื้น

พืชอาหาร
กาแฟ โกโก้ มันสำปะหลัง มันฝรั่ง มันเทศ เผือก พืชหัว โสม ขิง ถั่วลิสง ทานตะวัน ข้าวโพด ข้าวฟ่าง แป้งสาลี แป้งมัน นัท เครื่องเทศ กระเทียม ลูกจันทร์ ผลไม้แห้ง บลาซิลนัท มะพร้าว ปาล์ม กล้วย ถั่ว อ้อย และถั่วลิสงแบมบารา

กำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน ได้แก่ Anisopteromalus calandrae (Howard), Apanteles araeceri Wilkinson, Cephalonomia gallicola (Ashmead), Cleonymus texanus (Crawford), Eupelmus cushmani (Crawford), Eupelmus javae Girault และ Plastanoxus sp.

ไรตัวห้ำ ได้แก่ ไรกินไข่ Cheytetus sp. และ Monieziella sp.

-*-*-*-*-

ที่มา : PDF แมลงที่พบในผลิตผลเกษตร และการป้องกันกำจัด โดย กองวิจัยและพัฒนาวิชาการหลักการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลิตผลเกษตร – กรมวิชาการเกษตร


แชร์ - ส่งบทความให้เพื่อน
อ่าน :  เด็กกตัญญู น้องออย เด็กหญิงสู้ชีวิต ใช้เพิงสังกะสีเป็นร้านตัดผม หารายได้ดูแลพ่อและน้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง